โครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

ถาม : นาย ก. ขอให้พิจารณาขยายระยะเวลาโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการประมง

ตอบ : เรื่องนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้ตอบข้อสงสัยดังกล่าวข้างต้นแล้ว สรุปได้ว่า ปัจจุบันรัฐบาลได้ออกพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 ประกอบด้วย 2 มาตรการซึ่งสามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้ที่สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ โดยการพิจารณาให้ความช่วยเหลือจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่สถาบันการเงินกำหนด ดังนี้

1. มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจวงเงิน 250,000 ล้านบาท         โดยกำหนดกลไกการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เข้าถึงสินเชื่อในอัตราที่เหมาะสม ผู้ประกอบการทั้งที่มีสินเชื่อและไม่มีสินเชื่อกับสถาบันการเงินสามารถยื่นขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งไม่เกิน 500 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปี ในช่วง 2 ปีแรกของสัญญา และเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี ตลอดระยะเวลามาตรการ โดยรัฐบาลรับภาระดอกเบี้ยแทนผู้ประกอบธุรกิจเป็นระยะเวลา 6 เดือน นอกจากนี้ ยังมีกลไกค้ำประกันสินเชื่อของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม เพื่อลดความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ประกอบการ    โดยชดเชยความเสียหายสูงสุดร้อยละ 40 ของวงเงินสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติ รับคำขอสินเชื่อจนถึงวันที่ 9 เมษายน 2566

2. มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ (มาตรการพักทรัพย์พักหนี้) วงเงิน 100,000 ล้านบาท โดยกำหนดกลไกในการช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ยังมีพื้นฐานดี แต่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และต้องใช้ระยะเวลายาวนานในการฟื้นตัว โดยสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจไม่ต้องรับภาระต้นทุนทางการเงินเป็นการชั่วคราวและไม่ถูกบังคับให้ขายทรัพย์สินหลักประกันในราคาต่ำกว่าสภาพความเป็นจริง (Fire Sale) ให้แก่กลุ่มทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งมีโอกาสกลับมาดำเนินธุรกิจโดยใช้ทรัพย์สินหลักประกันเดิมได้ภายหลังจากที่สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) คลี่คลายลง ผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินอยู่แล้วก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2564 ซึ่งมีทรัพย์สินเป็นหลักประกัน สามารถยื่นขอโอนทรัพย์สินหลักประกันชำระหนี้ในราคาที่ตกลงกับสถาบันการเงิน โดยผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สินนั้นมีสิทธิเช่าทรัพย์สินเพื่อประกอบธุรกิจต่อไปและมีสิทธิซื้อทรัพย์สินนั้นคืนได้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันโอนหรือระยะเวลาที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด หากมีการขยายระยะเวลามาตรการ ทั้งนี้ ราคาซื้อคืนต้องไม่สูงกว่าราคาที่รับโอนไว้รวมกับค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ ธปท. ประกาศกำหนด หักด้วยค่าเช่าที่สถาบันการเงินเรียกเก็บจากผู้ประกอบธุรกิจตลอดอายุสัญญา เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถซื้อทรัพย์สินนั้นคืนจากสถาบันการเงินเพื่อประกอบธุรกิจในราคาที่ไม่สูงเกินไป โดย ธปท. จะสนับสนุนแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำให้แก่สถาบันการเงินเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจโดยการลดค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่สถาบันการเงินเรียกเก็บจากผู้ประกอบธุรกิจ รับคำขอเข้าร่วมมาตรการจนถึงวันที่ 9 เมษายน 2566