การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และการจัดเก็บภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการเก็บภาษีซ้ำซ้อนกันหรือเปล่า ?

ถาม : เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับหลักเกณฑ์จัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างว่ามีการเรียกเก็บภาษีซ้ำซ้อนกับภาษีการค้า และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่

ตอบ : เรื่องนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้ตอบข้อสงสัยดังกล่าวข้างต้นแล้ว สรุปได้ดังนี้

๑. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งจัดเก็บตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพ.ศ. ๒๕๖๒ เป็นภาษีฐานทรัพย์สิน โดยมีหลักการในการจัดเก็บภาษี โดยพิจารณาจากความมั่งคั่งที่สะสมไว้ของบุคคลในรูปที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งแตกต่างจากการจัดเก็บภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มตามหมวด ๓ และหมวด ๔ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากรที่จัดเก็บจากฐานรายได้และฐานการบริโภคตามลำดับ จึงมิได้มีความซ้ำช้อนกันแต่อย่างใด ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างยังสอดคล้องกับแนวทางการจัดเก็บภาษีจากฐานทรัพย์สินในต่างประเทศอีกด้วย

๒. ผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างก็ย่อมมีหน้าที่เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโดยใช้มูลค่าที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างตามราคาประเมินทุนทรัพย์ที่กรมธนารักษ์กำหนด เป็นฐานในการคำนวณภาษี หักด้วยมูลค่าของฐานภาษีที่ได้รับยกเว้นแล้วคูณด้วยอัตราภาษีตามการใช้ประโยซน์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแต่ละประเภท และกรณีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวมีการใช้ประโยชน์หลายประเภทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะจัดเก็บภาษีตามสัดส่วนของการใช้ประโยชน์ในที่ดินหรือ     สิ่งปลูกสร้าง ทั้งนี้ ตามมาตรา ๗ มาตรา ๙ มาตรา ๓๕ มาตรา ๓๘ และมาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ๒๕๖๒

๓. รายได้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยจะนำไปใช้ในการจัดระบบบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น เช่น บำรุงรักษาทาง การสาธารณูปโภค การกำจัดขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล น้ำเสีย เป็นต้น ทั้งนี้ เจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ย่อมจะได้รับประโยชน์จากบริการสาธารณะที่ท้องถิ่นนั้นจัดให้ และยังจะได้รับประโยชน์   จากราคาทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นนเนื่องมาจากการพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

***************************************